คุณทราบหรือไม่ว่า มีพืชและพันธุ์ไม้หลายชนิด ที่ไม่ได้สวยงามแต่เพียงรูปร่างภายนอก แต่ภายในพืชนั้นๆมีสารสำคัญบางอย่างที่มนุษย์ได้ค้นพบแล้วกลายเป็นยาที่มีคุณประโยชน์ เช่น ยา Metformin (เมทฟอร์มิน)ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งปัจจุบันแพทย์จะใช้เป็นยาตัวแรกที่ใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน ยาแก้ไอ และยาแก้ปวดอย่างแรงที่ชื่อว่าMorphine (มอร์ฟีน) ก็สกัดมาจากฝิ่นซึ่งเป็นพืชที่ถูกจัดให้อยู่ในยาเสพติดให้โทษ
“กัญชา” เป็นหนึ่งในพืชที่มีสารสำคัญอยู่ภายใน มนุษย์รู้จักพืชชนิดนี้นำมาใช้เป็นสรรพคุณทางยากันอย่างแพร่หลายในยุคสมัยหนึ่ง ต่อมาเมื่อกัญชาถูกควบคุมให้เป็นยาเสพติดจึงถูกระงับการใช้ในวงการแพทย์ไป แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยใช้เป็นยารักษาอาการบางอย่างด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านอยู่ จนเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ ได้มาไขปริศนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์สมัยใหม่ จน “กัญชา” กลับมาเป็นพืชที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง รวมถึงในประเทศไทยได้อนุญาตให้ ปลูกและนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และปลดล๊อคให้บางส่วนของกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป
กัญชาคืออะไร
“กัญชา” หรือต้นกัญชาเป็นพืชล้มลุกชนิด Cannabis sativa L.ในวงศ์ Cannabaceae มีขนาดลำต้นสูงไม่เกิน2 เมตร ใบมีแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉกแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ ดอกสีเขียว ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งเรียก กะหรี่กัญชา เดิมใช้สูบปนกับยาสูบ มีสรรพคุณทำให้มึนเมา รวมถึงภาวะเคลิ้มสุข ความผ่อนคลาย และความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงไม่พึงปรารถนาบางครั้งทำให้ การคิดการตัดสินใจ ความจำระยะสั้นลดลง ทักษะการเคลื่อนไหวบกพร่อง และรู้สึกหวาดระแวงหรือวิตกกังวล
สารในกัญชาที่นำไปใช้ในวงการแพทย์
สารในกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์ ส่วนใหญ่นิยมใช้ช่อดอก เนื่องจากมีสารสำคัญที่สามารถนำมาสกัดอยู่ในปริมาณมากกว่าส่วนอื่นๆโดยเลือกเก็บและสกัดสารสำคัญจากดอกกัญชาตัวเมียที่ไม่ถูกผสม เมื่อออกดอกเติบโตจะมีไตรโคม (Trichomes) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นกัญชาที่สะสมสารสำคัญของกัญชาประกอบด้วย THC, CBD และสารอื่นๆ อีกกว่า 400 ชนิด รวมไปถึงการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง จากสายพันธุ์ลูกผสมที่มีสารทีเอชซี (THC) และสารซีบีดี (CBD) เด่น และได้มาตรฐานทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การการยอมรับ จะใช้กรรมวิธีการสกัดให้ได้ปริมาณสารสำคัญเป็นไปตามที่ต้องการและสม่ำเสมอ , ปราศจากเชื้อก่อโรค,ยาฆ่าแมลง และปราศจากการปนเปื้อนของสารโลหะหนัก
อย่างไรก็ตาม การเก็บเกี่ยวจะมีการตรวจสอบสีของไตรโคมด้วยแว่นขยายไม่น้อยกว่า 100 เท่า เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งภายในห้องสะอาดที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ที่เหมาะสม และนำมาสกัดตามกระบวนการจนเหลือเป็นน้ำมันที่มีความใส ไม่มีตะกอน ไม่มีคลอโรฟิลล์ โดยนำมาเจือจางและผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัด THC และ CBD ระดับหน่วยเป็น mg/ml เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณเป็นโดสหรือปริมาณการใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายและแต่ละโรคได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลต่อการรักษา
น้ำมันกัญชาจะอยู่ในรูปแบบของน้ำมันหยดใต้ลิ้นสำหรับหยดใต้ลิ้น(Sublingual Drop) เพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์เร็วขึ้นและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าการให้ยาในรูปแบบแคปซูลรับประทานอีกทั้งยังสามารถเจือจางความเข้มข้นของยาได้ตามความต้องการของแพทย์ผู้สั่งจ่ายและโรคที่นำไปใช้รักษา
ประโยชน์ ใช้รักษาโรคและอาการต่างๆ ดังนี้
- ภาวะคลื่นไส้อาเจียน ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
- โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
- ภาวะอาการปวดเรื้อรัง ปวดประสาทส่วนกลาง ที่ใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล
- ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย
- เพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง
และสืบเนื่องมาจากในปัจจุบันนี้วงการกัญชาถูกเป็นที่จับตามองว่าสามารถใช้เป็นส่วนผสมใน ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมไปถึงกระบวนการผลิตยารักษาโรคต่าง ๆ 5 ตำรับยากัญชาแผนไทยก็ ถูกปลด ออกจากบัญชีตำรับยาเสพติดด้วย จุดประสงค์ก็เพื่อการดูแลรักษาสุขภาพ
ตำหรับที่ 1 ยาศุขไสยาศน์ สรรพคุณ ช่วยให้นอนหลับ และเจริญอาหาร ลดความวิตกกังวล
อาการตื่นกลัว เมื่อเกิดความผ่อนคลายก็จะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น ยาตำรับนี้ประกอบไปด้วยตัวยา 12 ชนิด ได้แก่ การบูร, ใบสะเดา, หัสคุณเทศ, สมุลแว้ง, เทียนดำ, โกฐกระดูก, ลูกจันทน์, ดอกบุนนาค, พริกไทย, ขิงแห้ง, ดีปลี และใบกัญชา แต่การใช้ยาจะต้องอยู่ในความดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในการรักษา ทั้งนี้ตำรับยานี้ยังช่วยให้เพิ่มความอยากอาหารมากยิ่งขึ้นด้วย
ตำหรับที่ 2 สรรพคุณเป็นยาแก้นอนไม่หลับ แก้ไข้ผอมเหลือง
ไข้ที่มีอาการสั่น เสียงสั่น อ่อนเพลีย ไม่มีกำลัง (ไข้ผอมเหลือง เกิดจากธาตุลมกำเริบส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร เมื่อเป็นเรื้อรัง ทำให้ร่างกายผ่ายผอม ซีด เหลือง อ่อนเพลีย และไม่มีกำลัง)โดยในยาตำรับนี้ประกอบไปด้วยตัวยาทั้งหมด 8 ชนิด คือ ใบกัญชา, ใบคนทีเขมา, ใบสะเดา, จันทร์ขาว, จันทร์แดง, ขิงแดง, พริกไทล่อน และดีปลี
ตำหรับที่ 3 มีสรรพคุณแก้ลมแก้เส้น
บรรเทาอาการมือเท้าชาอ่อนแรงในเส้นที่มีความผิดปกติและส่งผลให้มีอาการปวดหรือชาตามเส้นต่าง ๆ ในร่างกายยาตำรับแก้ลมแก้เส้นประกอบด้วยตัวยา 7 ชนิด คือ เทียนขาว, เทียนดำ, เทียนข้าวเปลือก, ขิง, เจตมูลเพลิงแดง, พริกไทย และกัญชา
ตำหรับที่ 4 มีสรรพคุณเป็นยาริดสีดวงทวารหนัก และ โรคผิวหนัง
ช่วยแก้กลุ่มอาการผื่นคัน ผื่นภูมิแพ้ แผลสะเก็ดเงิน รวมไปถึงอาการของริดสีดวงทวารอีกด้วย โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นในกัญชาสามารถลดอาการคัน บรรเทาอาการเจ็บปวด และลดการอักเสบในผู้ป่วยโรคผิวหนังและโรคริดสีดวงทวารหนักได้ยาตำรับที่ 4 นี้ประกอบไปด้วย ขมิ้นชัน, น้ำมันเมล็ดฝ้าย และใบกัญชา
ตำหรับที่ 5 ยาแก้โรคจิต สรรพคุณใช้สำหรับรักษาภาวะเครียด กังวล
และส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ทั้งนี้คำว่า “ยาแก้โรคจิต” ไม่ได้มีความหมายทางการแพทย์แผนปัจจุบัน (โรคจิตและไบโพล่า) แต่อย่างใด ประกอบไปด้วยตัวยา 14 ชนิด อันประกอบไปด้วยเปลือกกุ่มน้ำ, เปลือกมะรุม, แห้วหมู, เปล้าน้อย, เปล้าใหญ่, รางแดง, จันทน์เทศ, เปลือกมะตูม, ก้านกัญชา, บอระเพ็ด, เปลือกโมกมัน, หญ้าชันกาด, สนเทศ และระย่อม
กัญชาใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
การใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่ผู้ใช้ควรพึงทราบคือ หลังจากการใช้สารสกัดกัญชาแล้วจะมี อาการง่วงซึม ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ ไม่ควรทำงานกับเครื่องจักรกล หากท่านมีอาการเวียนศีรษะ ร่างกายเสียความสมดุล หัวใจเต้นเร็วหรือช้าลง และความดันโลหิตผิดปกติ (อาจสูง/ต่ำกว่าปกติได้) ควรลดปริมาณการใช้ แต่หากมีความผิดปกติ เช่น อาการสับสน กระวนกระวาย วิตกกังวล ประสาทหลอน รวมถึงหากใช้แล้วเกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นขึ้น หน้าบวม ตาบวม ริมฝีปากบวม ควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ทันที
นอกจากนี้ การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ยังมีข้อห้ามใช้ในบางกรณี ได้แก่
- มีประวัติแพ้สารสกัดจากกัญชา
- หญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร หญิงที่วางแผนในการมีบุตร
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด มีความผิดปกติของตับและไตที่รุนแรง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภท โรคจิตจากสารเสพติด โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ที่มีความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง
- ผู้ที่ติดสารเสพติดรวมไปถึงนิโคติน หรือติดสุราอย่างหนัก
นอกจากการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ยังคงมีกระบวนการก้าวหน้าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสกัดเป็นยารักษาโรครวมไปถึงการแปรรูปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์และการปรุงอาหาร
ปัจจุบันกัญชาทางการแพทย์ออกสู่ตลาดเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น เช่น โรงพยาบาลยันฮี ซึ่งถือเป็นแหล่งการแพทย์นำร่องการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ในการรักษา โดยใช้ส่วนของรากและลำต้นซึ่งมีสารเสพติดน้อย นำมาสกัดเป็นยารักษา ไม่ว่าจะเป็น
1. รักษาโดยการหยดใต้ลิ้นซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร และฟื้นฟูกำลังผู้ป่วยเรื้อรัง
2. รักษาโดยการนวดด้วยน้ำมันกัญชา เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช่น ปวดข้อ ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อตามร่างกาย รวมไปถึงแก้อาการปวดศีรษะเรื้อรัง และไมเกรน
นอกจากนี้ยังมีสารประกอบที่เป็นตัวสำคัญอีก คือสาร Cannabidiol (CBD) ซึ่งจะพบได้ในช่อดอกไปจนถึงราก โดยเฉพาะรากและลำต้นจะเป็นส่วนสำคัญในการดูดซึมอาหารทำให้ใบและดอกเจริญเติบโต ในรากจะมีสารตั้งต้นก่อนที่จะเป็นสารแคนาบินอยด์ ดังนั้นจึงไม่มีฤทธิ์มึนเมาใดๆ มีคุณสมบัติ ช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นให้อยากอาหารและช่วยลดอาการปวด
ข้อควรรู้ก่อนเข้ารับบริการ
- ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ไม่มีประวัติแพ้กัญชา/สารประกอบอื่นในผลิตภัณฑ์กัญชา
- ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ วางแผนการตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ไม่เป็นผู้ป่วยจิตเภทรุนแรง
- ไม่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด (กรณีนวดน้ำมันกัญชา)
ข้อควรระวังอื่นๆ
- ใช้ร่วมกับยาโรคประจำตัวบางอย่าง
- การสั่งใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี THC เป็นส่วนประกอบในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสมองที่กำลังพัฒนาได้ ดังนั้น ผู้สั่งใช้ควรวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนการสั่ง ใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา
- ผู้ที่เป็นโรคตับ
- ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก
การใช้กัญชาทางการแพทย์ถือเป็นยาใหม่และไม่ใช่ยาครอบจักรวาล ดังนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวังควรศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนอย่างเข้าใจ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้นคัดกรองข้อห้ามและข้อควรระวังต่างๆ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
“กัญชา” บริโภคมากเกินเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
กัญชา ใครบ้างที่ต้องระวัง!
กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง และเสี่ยงเกิดอันตรายหากบริโภคกัญชาและกัญชง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่ให้นมบุตร เนื่องจากเด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชา และยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคด้วยเช่นกัน เพราะส่งผลโดยตรงต่อทารกในครรภ์และผ่านทางการให้น้ำนม
แม้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยจะอนุญาตให้ปลูกตามบ้านได้แล้ว โดยสามารถใช้ส่วนประกอบของพืช ยกเว้น ช่อ ดอก ยาง น้ำมัน ในการทำอาหาร ซึ่งถือเป็นส่วนที่ห้ามใช้เนื่องจากมีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อระบบสมองและหลอดเลือด การนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกัญชา กัญชง ไปสกัดเพื่อให้ได้สาร THC หรือ Tetrahydrocannabinol ยังคงต้องแจ้งขออนุญาตผลิตสกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด) โดยสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
กัญชาและกัญชง มีทั้งประโยชน์และโทษ เราควรทำความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษในการบริโภค ระมัดระวังในการใช้ความร้อนในการปรุงเพื่อนำมาบริโภค และควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะมีประโยชน์ในทางการแพทย์
Pingback: เปิดตัว Dr.CBD Clinic ชูนวัตกรรมกัญชา-กัญชง รับเทรนด์ Healthcare - Get Healthy with CBD
Pingback: ดร.ซีบีดี บุกธุรกิจเฮลธ์แคร์กัญชา-กัญชงครบวงจร ลุยสินค้าคน-สัตว์เลี้ยง - Get Healthy with CBD
Pingback: เปิดตัวบริษัท Dr.CBD ก้าวแรกของอุตสาหกรรม Health Care - Get Healthy with CBD
Pingback: Dr. CBD เปิดบริการสุขภาพมาตรฐานการแพทย์ จากกัญชา กัญชง และกระท่อม - Get Healthy with CBD
Pingback: เปิดตัวบริษัท Dr.CBD ก้าวแรกของอุตสาหกรรม Health Care จากกัญชา กัญชง - Get Healthy with CBD