You are currently viewing อนุทิน ปลื้ม 3 น้ำมันกัญชา ได้ผลดี ผู้ป่วยเข้าถึงฟรี! ทุกสิทธิ จ่อออกสูตร 4 รักษามะเร็ง

อนุทิน ปลื้ม 3 น้ำมันกัญชา ได้ผลดี ผู้ป่วยเข้าถึงฟรี! ทุกสิทธิ จ่อออกสูตร 4 รักษามะเร็ง

อนุทิน ปลื้ม 3 น้ำมันกัญชา อภ.ได้ผลดี ผู้ป่วยเข้าถึงฟรี! ทุกสิทธิ จ่อออกสูตร 4 รักษามะเร็ง

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ. และ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อภ. ร่วมแถลงความคืบหน้าการผลิตน้ำมันสารสกัดจากกัญชาของ อภ. ซึ่งล่าสุดได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรแล้ว

นายอนุทิน กล่าวว่า การนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ มีการขับเคลื่อนอย่างอย่างต่อเนื่องจนเป็นรูปธรรม มีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันทั่วประเทศถึง 1,173 แห่ง ซึ่ง อภ. เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมดำเนินการ มีการปลูกกัญชาตามมาตรฐานทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย เป็นหน่วยงานแรกของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ล็อตแรกให้แก่คลินิกกัญชานำร่องในทุกเขตสุขภาพ เริ่มจากระยะแรกเป็นน้ำมันสารสกัดกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น ทั้งหมด 3 สูตร คือ 1.ทีเอชซี (THC) เด่น สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ภาวะปวดประสาท 2.ซีบีดี (CBD) เด่น และ 3.ซีบีดีและทีเอชซี (CBDและTHC) ในสัดส่วน 1:1 ส่งให้กับคลินิกกัญชาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งกรมการแพทย์ สธ.ได้ศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์สูตร ทีเอชซีเด่น และสูตร 1:1 ในผู้ป่วยประคับประคองหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายพบว่าได้ผลดี ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในทุกสิทธิการรักษา

Anutin DMC

“เป็นที่น่ายินดีว่า น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ. ทั้ง 3 สูตร ได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 แล้ว โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้มากขึ้น และช่วยให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็งทางยา ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาราคาสูงจากต่างประเทศได้อีกด้วย” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า อภ.ได้พัฒนาการผลิตและนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทยอยออกสู่ตลาด เพื่อให้แพทย์ของคลินิกกัญชาแผนปัจจุบันโรงพยาบาล (รพ.) ภาครัฐ 126 แห่ง และ รพ.เอกชน 71 แห่ง นำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้การตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาและผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ซึ่งจากผลการศึกษาที่ปรากฏชัดเจน คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงเห็นชอบให้น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ผลิตโดย อภ. ทั้ง 3 รายการ บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นยาสำหรับใช้ใน รพ.และสถานบริการสาธารณสุข โดยมีสรรพคุณและข้อบ่งใช้ตามข้อกำหนดทางการแพทย์

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.ทั้ง 3 รายการ เป็นรูปแบบยาหยดใต้ลิ้น ประกอบด้วย น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซีเด่น ใช้เสริมในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง, น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดีเด่น ตามโครงการของกรมการแพทย์ สำหรับรักษาโรคลมชักในเด็ก และน้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีซีบีดีและทีเอชซี สัดส่วน 1:1 ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดปานกลางถึงรุนแรง

“ทั้งนี้ การใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซีเด่น ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มีทีเอชซีสูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมที่มีความเข้มข้น 13 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย อภ.จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาสูตรใหม่ที่มีทีเอชซีเข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เพื่อใช้เป็นการรักษาเสริมในภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง ซึ่งผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ปัจจุบันคณะอนุกรรมการประเมินรายการยาได้พิจารณาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป นับเป็นยาจากกัญชารายการที่ 4 ผลิตโดย อภ.ที่ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า อภ.ยังร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรวม 12 แห่ง ในการเตรียมความพร้อมทางด้านวัตถุดิบและกำลังการผลิตรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกัญชาและกัญชง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่นที่จะเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนกัญชาและกัญชงให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างมีมาตรฐาน

ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า สำหรับการใช้น้ำมันสารสกัดกัญชา 3 สูตร พบว่า มีผลตอบรับที่ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยอาการป่วยต่างๆ เข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น รวมถึงมีความไว้ใจในการสั่งจ่ายของแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น อภ. และเครือข่ายซัพพลายด์ ได้เตรียมรองรับความต้องการที่มากขึ้นแบบไดนามิก โดยสูตร 1:1 มีความต้องการใช้มากที่สุด ตามมาด้วยสูตรทีเอชซี และ ซีบีดี อย่างไรก็ตาม แนวทางการใช้สูตรที่ 4 ที่มีความเข้มข้นมากกว่าของเดิมถึง 6 เท่า แพทย์จะผ่านการอบรมเกณฑ์การใช้ ซึ่งจะใช้ในระดับต่ำก่อน ส่วนการใช้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้ป่วยไม่สามารถร้องขอจะใช้สูตรไหนได้ ต้องให้แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งคลินิกที่ผ่านการขออนุญาตใช้ตามกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ อภ.จะผลิตตามพรีออเดอร์ ความต้องการใช้ โดยสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ของ อภ. https://www.gpo.or.th/ ได้ว่า มีสถานพยาบาล หรือคลินิกไหนที่ใช้น้ำมันสกัดกัญชาของ อภ. จะมีการอัพเดตข้อมูลในเว็บไซต์ ส่วนอาการข้างเคียงไม่มาก ส่วนใหญ่มีอาการปากแห้ง คอแห่ง อย่างไรก็ตาม กรณีการใช้สูตรที่ 4 ขณะนี้ยังไม่ได้มีการใช้ต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน

Leave a Reply